สรุปมาแล้ว 5 สิ่งที่ควรทำก่อนนำเล่มเข้าระบบไอทีสิส
ตรวจสอบ username password สำหรับเข้าระบบไอทีสิส
ตรวจสอบข้อมูลของตนเองที่ระบบไอทีสิส
ชื่อ-นามสกุล
รหัสนักศึกษา
สังกัด คณะ สาขา ชื่อปริญญา
กรอกข้อมูลวิทยานิพนธ์
ชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์
รายชื่อคณะกรรมการสอบ
ตรวจสอบว่าติดตั้ง Microsoft word รุ่นที่สามารถใช้งาน iThesis Add-in (Nex-Gen) ได้
ตรวจสอบไฟล์เล่มที่พิมพ์ไว้แล้วจะนำมาเข้าระบบ
ตั้งค่าหน้ากระดาษให้ถูกต้อง
ตัวช่วยสำหรับ login iThesis Add-in (Nex-Gen) เข้าสู่ระบบ ดาวน์โหลดแอป Paperpilot และเชื่อมโยงบัญชีไอทีสิส เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน login via mobile และเพื่อสามารถใช้งาน Rover AI ผ่าน iThesis Add-in (Nex-Gen) ได้ด้วย
วิทยานิพนธ์งานเขียนที่ได้อะไรมากกว่าการเขียน
หลาย ๆ คนที่เรียนระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก เรียกโดยรวมว่า ระดับบัณฑิตศึกษา เมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 2 ของการเรียน หรือหลังจากที่เรียนรายวิชา (coursework) จนครบ ก็มักจะเป็นช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ โดยเริ่มต้นจากการกำหนดหัวข้อวิจัย ตั้งวัตถุประสงค์ของงาน กำหนดคำถามวิจัย ศึกษาทฤษฎีและทบทวนวรรณกรรม และออกแบบการศึกษาวิจัย/การทดลอง เพื่อจัดทำเป็นโครงร่างวิทยานิพนธ์และนำเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อให้ได้รับอนุมัติและไปทำการวิจัยในเรื่องที่นำเสนอไป จากนั้นนักศึกษาจะไปทำวิจัย บางหลักสูตรก็ทำการทดลอง บางหลักสูตรก็รวบรวมแบบสอบถาม นำมาวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิคต่าง ๆ และอาจมีการใช้สถิติในการวิเคราะห์ผลด้วย จากนั้นจะต้องมาเขียนเล่มวิทยานิพนธ์ ซึ่งก็จะต้องมีการอภิปรายผลร่วมด้วย เมื่อพร้อมแล้วจึงจะดำเนินการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ ซึ่งก็จะมีกระบวนการทำเอกสารคำร้องร่วมด้วย (ใครที่ได้อ่านบทความนี้แล้วเรียนจบแล้ว น่าจะพอนึกภาพออก)
จะเห็นว่าการทำวิทยานิพนธ์เองนั้น นอกจากจะต้องจัดทำเนื้อหาแล้ว ยังต้องมีการจัดรูปแบบให้เรียบร้อยตามที่หลักสูตรกำหนด อีกทั้งยังต้องทำเอกสารเพื่อดำเนินเรื่องขอสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ และยังต้องตรวจสอบด้วยว่าตนเองนั้นผ่านข้อกำหนดของทางหลักสูตรเพื่อจะสามารถจบการศึกษาหรือยัง จึงจะเห็นว่านักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเองกว่าจะสำเร็จการศึกษานั้นจะต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง และบางขั้นตอนจำเป็นต้องทำตามลำดับ ไม่สามารถข้ามขั้นได้
หากกล่าวเฉพาะส่วนของการจัดรูปแบบเล่มวิทยานิพนธ์ แต่ก่อนรูปแบบเล่มวิทยานิพนธ์มักอยู่ในรูปของคู่มือที่มีการตีเส้นระบุว่าจะต้องกำหนดระยะขอบ ความเยื้อง โดยนักศึกษาจะต้องมาทำไฟล์เอกสารเอง และมีอีกหลายคน ที่ขอไฟล์จากเพื่อนหรือรุ่นพี่มา โดยอาจติดเนื้อหาของเจ้าของงานมา แล้วอาจเกิดการลักลอกวรรณกรรมโดยมิได้ตั้งใจ ระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์และงานวิจัย (Integrated Thesis and Research Management System) หรือระบบไอทีสิส (iThesis) จึงได้รับการพัฒนามาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ระบบไอทีสิส ใช้สำหรับการบริหารจัดการวิทยานิพนธ์และงานวิจัย ตั้งแต่การกำหนดรูปแบบเล่มวิทยานิพนธ์ จัดทำข้อมูลของนักศึกษา ออกแบบให้รองรับการบันทึกข้อมูลจำเป็นของวิทยานิพนธ์เพื่อใช้สำหรับทำเมตาดาต้าสำหรับการจัดทำคลังปัญญารวมไปถึงการสร้างไฟล์ดิจิทัลรูปแบบ PDF อีกทั้งยังรองรับกระบวนการขออนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และที่สำคัญคือระบบรองรับการตรวจลักลอกวรรณกรรมเพื่อป้องกันการเกิดการลักลอกโดยไม่ตั้งใจ โดยปัจจุบันระบบไอทีสิสสามารถใช้งานได้เฉพาะนักศึกษาที่สังกัดมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการจัดซื้อระบบไอทีสิสไว้เท่านั้น
นักศึกษาส่วนมากจะมาจัดทำเล่มวิทยานิพนธ์เข้าระบบไอทีสิสช่วงหลังจากที่ดำเนินการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่วนมากมักจะพบปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบของไฟล์ รวมไปถึงการใช้งานเครื่องมือจัดรูปแบบบน Microsoft Word ที่เมื่อใช้งานไม่ถูกตามรูปแบบ อาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "หน้าเลื่อน" ได้ หมายถึงการคัดลอกเนื้อหาจากไฟล์ที่จัดทำไว้มาลงเทมเพลต อาจมีรูปแบบไม่เหมือนกับที่จัดทำ หรือบางคนอาจจะไม่ทราบบัญชีใช้งานของระบบไอทีสิส จนอาจเกิดปัญหาไม่สามารถนำส่งไฟล์ได้ทันตามกำหนด เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวใช้งานระบบนี้แต่เนิ่น ๆ
บทความนี้จึงจะมาแนะนำ 5 สิ่งที่ควรทำก่อนนำเล่มเข้าระบบไอทีสิส มีดังนี้
1) ตรวจสอบ username password สำหรับเข้าระบบไอทีสิส
การเข้าใช้งานระบบไอทีสิสจะต้องใช้ username password สำหรับเข้าระบบ โดยจะต้องเข้าที่ https://ithesis.<univ>.ac.th โดย <univ> แทนชื่อย่อหรือชื่อโดเมนของมหาวิทยาลัย ให้ตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ดูแลระบบอีกครั้ง ในส่วนของ username password เอง บางสถาบันใช้งานของระบบไอทีสิสโดยเฉพาะ โดยนักศึกษาจะได้รับ username password นี้ทางอีเมลสถาบันของนักศึกษา โดยอีเมลที่จะจัดส่งให้นักศึกษาจะส่งจากระบบไอทีสิสของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
นอกจากนี้ บางมหาวิทยาลัยอาจใช้งาน username password เข้าระบบไอทีสิสเป็นบัญชีเดียวกันกับบัญชีใช้งานซอฟต์แวร์ที่ออกโดยสำนักคอมหรือฝ่ายไอที ควรสอบถามกับผู้ดูแลระบบไอทีสิสของสถาบันตั้งแต่เริ่มต้น และควรทดสอบเข้าสู่ระบบด้วยเพื่อจะได้แน่ใจว่า username password ที่ได้รับสามารถใช้งานได้
2) ตรวจสอบข้อมูลนักศึกษาในระบบไอทีสิส
หลังจากเข้าสู่ระบบได้แล้วให้ตรวจสอบข้อมูลของตนเอง ตัวอย่างเช่น ชื่อ-นามสกุล รหัสนักศึกษา สังกัด คณะ สาขา ชื่อปริญญา ซึ่งหากพบว่าไม่ถูกต้องให้แจ้งกับผู้ดูแลระบบเพื่อทำการแก้ไข เนื่องจากหากพบภายหลังจากการทำเล่มวิทยานิพนธ์ หรือทำจนเสร็จเรียบร้อยแล้วได้รับอนุมัติแล้ว จะกลับมาแก้ไขได้ไม่สะดวก
3) กรอกข้อมูลชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษา
สำหรับนักศึกษาที่เริ่มใช้งานระบบไอทีสิส มีข้อแนะนำให้กรอกข้อมูลชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์ และกรอกรายชื่อคณะกรรมการสอบ ทั้งนี้หากยังไม่ทราบรายชื่อของคณะกรรมการสอบสามารถกรอกเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษาหลักท่านเดียวก่อนได้ ระบบไอทีสิสรองรับการกรอกรายชื่อคณะกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์แยกกับวิทยานิพนธ์ โดยสามารถเข้ามาปรับรายชื่อคณะกรรมการสอบได้แม้จะผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์ไปแล้ว โดยจะกรอกเฉพาะตำแหน่งทางวิชาการและวุฒิการศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถพิมพ์ชื่อของคณะกรรมการสอบลงไปเองได้ จะต้องเลือกผ่านฐานข้อมูลของระบบ ทั้งนี้หากไม่พบชื่ออาจารย์ที่แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบ เนื่องจากเป็นอาจารย์ภายนอกมหาวิทยาลัย จำเป็นจะต้องแจ้งเพิ่มรายชื่อกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการทำเรื่องขอเพิ่ม ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีวิธีการรับเรื่องและเพิ่มรายชื่อคณะกรรมการสอบภายนอกมหาวิทยาลัยที่แตกต่างกัน
นอกเหนือจากการกรอกชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์และคณะกรรมการที่ iThesis Web Portal แล้ว iThesis Add-in (Nex-Gen) รองรับการเพิ่มรายชื่อคณะกรรมการสอบผ่านเมนู Form อีกทั้งเอกสารที่สร้างขึ้นจาก iThesis Add-in (Nex-Gen) เองก็ยังสามารถพิมพ์ชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์ลงที่เอกสารได้โดยตรง และสามารถจัดชื่อหัวข้อให้ตัดคำได้ตามที่ต้องการ
4) ตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ว่าติดตั้ง Microsoft Word รุ่นที่สามารถใช้งาน iThesis Add-in (Nex-Gen) ได้
ในการทำเล่มวิทยานิพนธ์ด้วยระบบไอทีสิสนั้น จะต้องใช้งาน iThesis Add-in ที่ติดตั้งบน Microsoft Word โดย iThesis Add-in (Nex-Gen) หรือ iThesis Add-in รุ่นใหม่ จะต้องดาวน์โหลดและติดตั้งผ่าน Microsoft Office Store ที่เชื่อมต่อกับ Microsoft Word ดังนั้นจึงสามารถใช้งานได้กับ Microsoft Word รุ่นที่สามารถเข้าถึง Microsoft Office Store ได้
โดยรุ่นที่รองรับการใช้งานจะเป็น Microsoft 365 เวอร์ชันล่าสุด, Microsoft Office 2021 ได้ทั้งแบบ Volume licensed และ Retail version ส่วน Microsoft Office 2019 ได้เฉพาะแบบ Retail version ซึ่ง Microsoft Word Online นั้นถึงสามารถติดตั้งได้แต่จะไม่สามารถใช้งาน iThesis Add-in (Nex-Gen) ได้เต็มประสิทธิภาพ
โดยสามารถเช็ครุ่นของ Microsoft Word ที่ใช้งานได้ที่ File และเลือก Account
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความด้านล่างนี้
5) ตรวจสอบไฟล์วิทยานิพนธ์ที่ทำไว้แล้วกำลังจะนำมาเข้าระบบ
โดยส่วนมากหลาย ๆ คนมักจะพิมพ์เนื้อหาเล่มวิทยานิพนธ์แบบแยกบท หรืออาจจะพิมพ์ไว้ที่ไฟล์ Word ที่สร้างขึ้นเอง ซึ่งโดยส่วนมากเมื่อเปิดหน้ากระดาษเปล่ามามักจะมีขนาดกระดาษเป็น letter และขอบกระดาษทุกด้านเป็น 1 นิ้ว ซึ่งเป็นค่าเริ่มต้น (default) ของหน้าเอกสาร Microsoft Word ซึ่งมักจะทำให้เวลาที่นักศึกษานำเนื้อหาที่พิมพ์ไว้แล้วจัดหน้าไว้แล้วมาวางที่ไฟล์เทมเพลตวิทยานิพนธ์ที่สร้างจากระบบไอทีสิสแล้วพบปัญหา "หน้าเลื่อน" เนื่องจากขอบกระดาษที่แคบเข้ามาทำให้หน้าเอกสารที่จัดไว้เลื่อนได้ อีกทั้งการขึ้นหน้าใหม่หรือการขึ้นบรรทัดใหม่หากใช้ enter แทนที่จะใช้ page break ก็มีผลทำให้หน้าเลื่อนอีกเช่นกัน รวมไปถึงรูปที่วางในเอกสารนั้นตั้งค่าการตัดคำ (wrap text) แบบใด อีกทั้งยังเรื่องการทำหัวข้อ heading สำหรับสร้างสารบัญอัตโนมัติ
ซึ่งในส่วนของการจัดหน้าเอกสารนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก สามารถเขียนเป็นบทความได้อีก 1 ฉบับ จึงแนะนำให้ติดตามรายละเอียดของการจัดหน้าด้วยเครื่องมือ Microsoft Word ในบทความถัดไป
นอกจาก 5 สิ่งที่ควรทำก่อนนำเล่มวิทยานิพนธ์เข้าระบบไอทีสิสแล้ว ผู้ใช้งานยังควรเรียนรู้วิธีการใช้งาน Microsoft Word รวมไปถึงโปรแกรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น Mendeley Cite สำหรับการทำรายการอ้างอิง SPSS สำหรับการทำวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการศึกษาวิธีการเขียนเล่าเรื่อง (storytelling) เพื่อถ่ายทอดความรู้ของผู้เขียนที่ได้จากการศึกษาวิจัยจนได้มาเป็นวิทยานิพนธ์ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่กำลังเขียนงานให้ฟันผ่าไปได้จนงานสำเร็จลุล่วง
สามารถกดเพื่อเพิ่มเพื่อนได้ที่นี่ 👉 https://lin.ee/3gAUHWL
ช่องทางติดต่อสอบถามเกี่ยวกับระบบไอทีสิส
Email: contact@ithesis.co
Comments