การเขียนเป็นการส่งสารจากบุคคลหนึ่งไปยังหลายบุคคล ซึ่งบุคคลผู้รับสารหรืออ่านสิ่งที่เราเขียนมีความหลากหลาย การเขียนให้เนื้อความที่ต้องการสื่อสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม การจะเขียนได้นั้นจะต้องมาจากการรับสาร ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการฟัง หรือการอ่าน เพื่อสั่งสมความรู้ ให้สามารถนำเสนอในแบบฉบับของตัวผู้เขียนเอง เรามาดูเทคนิคที่จะช่วยให้ผู้เขียนสามารถเขียนผลงานได้แบบไม่ซ้ำใคร และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และวิธีการเขียนให้ดีขึ้น
1. ศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ:
เริ่มต้นจากการเลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น วารสารวิชาการ หนังสือวิชาการ เว็บไซต์ขององค์กรหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ หรือบทความจากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ หรือแม้แต่การเขียนข่าวสารเพื่อเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ควรจะอ้างอิงจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเช่นกัน
2. ฝึกฝนทำความเข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้สามารถเขียนงานด้วยตัวเอง:
การจะเขียนงานด้วยตนเองได้นั้นมักจะยากที่สุดในครั้งแรก เนื่องจากเรายังไม่มีรูปแบบการเขียนที่แน่ชัด และยังไม่ทราบว่าจะสื่อสารอย่างไร ซึ่งรูปแบบการเขียนเป็นการบ่งบอกตัวตนของตัวผู้เขียนเอง ซึ่งถ้าเรามีรูปแบบการบรรยายที่ไม่ซ้ำใครจะทำให้เรามีความโดดเด่นและผลงานมีความน่าติดตาม นักเขียนมือใหม่สามารถเริ่มต้นได้จากการทำความเข้าใจและเขียนออกมา โดยให้ระลึกเสมอว่าต้องการบอกอะไรกับผู้รับสารให้กระชับที่สุด มักใช้หลักการ "หนึ่งย่อหน้าหนึ่งใจความสำคัญ" โดยในหัวข้อที่จะเขียนอาจมีหลายใจความสำคัญ ให้แยกกันและเขียนให้เชื่อมโยงถึงกัน ที่เรียกว่าการทำ "Story telling" เพื่อให้เนื้อความมีความต่อเนื่อง อ่านแล้วไม่สะดุด ผู้รับสารสามารถเชื่อมโยงได้
3. ศึกษารูปแบบการอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างถูกต้อง:
เมื่อมีการใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่นมานำเสนอในผลงาน จำเป็นจะต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนด โดยรูปแบบการอ้างอิงไม่ว่าจะเป็นนามปี หรืออ้างอิงตามลำดับ จะต้องมีการเขียนรายการอ้างอิงเต็มที่ถูกต้องและได้ข้อมูลครบถ้วน โดยรูปแบบการอ้างอิงในปัจจุบันที่นิยมใช้และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น APA, MLA, Chicago, Vancouver, IEEE ฯลฯ โดยแนะนำให้ใช้โปรแกรมจัดทำรายการอ้างอิง เช่น Endnote, Zotero, Mendeley หรือเครื่องมือใน Microsoft Word เอง เพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดรูปแบบอัตโนมัติ
ในปัจจุบันเรามักค้นหาข้อมูลได้จากบนเว็บไซต์ รวมไปถึงสื่อดิจิทัลจำนวนมาก ทำให้การอ้างอิงในยุคปัจจุบันส่วนมาก หากสามารถระบุลิงก์ของเว็บไซต์ที่สามารถสืบค้นต่อได้ จะช่วยผู้อ่านได้อย่างมาก เนื่องจากผู้อ่านสามารถตรวจสอบข้อมูล และติดตามไปยังแหล่งข้อมูลต้นฉบับได้
4. ตรวจสอบผลงานก่อนเผยแพร่:
ก่อนเผยแพร่ผลงาน ควรตรวจสอบงานอย่างละเอียด ว่าสะกดคำถูกต้อง มีเนื้อหาและใจความที่ต้องการสื่อครบถ้วนหรือไม่ โดยผู้เขียนเองอาจตรวจสอบด้วยตนเอง หรือให้เพื่อนร่วมงานอ่านทบทวนจะเป็นการดี เนื่องจากตัวผู้เขียนเองมักจะมีความเชื่อว่างานที่เขียนออกมาดีที่สุดแล้ว มีข้อแนะนำว่าผู้เขียนจะต้องทิ้งช่วงจากการทำบทความนั้นไปซักระยะหนึ่ง เพื่อตัวผู้เขียนไม่มีอคติ (bias) จากการอ่านผลงานของตนเอง และในการตรวจสอบการสะกดคำหรือคำผิดด้วยเครื่องมือไวยากรณ์ก็จะช่วยให้งานมีความเพียบพร้อมมากขึ้น และเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการลักลอกวรรณกรรมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ สามารถใช้เครื่องมือตรวจลักลอกวรรณกรรม (Plagiarism checking software) เพื่อช่วยตรวจสอบผลงานได้
การเขียนเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ สั่งสมประสบการณ์ (หรือที่มักเรียกกันว่า ชั่วโมงบิน) เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนบทความให้สื่อความได้น่าสนใจ ข้อมูลเพียบพร้อม และน่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องพึ่งพาการลอกเลียนแบบผลงานของผู้อื่น
ศึกษาเทคนิคการเขียนเพิ่มเติมได้ที่
เมื่อเราฝึกฝนเขียนงานในช่วงแรก ๆ เราอาจพบปัญหา "เขียนไม่ออก" เป็นส่วนใหญ่ สิ่งนี้เรียกว่า Mental block เกิดจากอะไรและมีแนวทางรับมืออย่างไร มาติดตามกันในบทความฉบับหน้า
ช่องทางติดต่อสอบถามเกี่ยวกับระบบไอทีสิส
Email: contact@ithesis.co
Comments